5 เคล็บลับซื้อบ้านใหม่ฉบับมือโปร

Create By : 9 กรกฎาคม 2565

5 เคล็บลับซื้อบ้านใหม่ ฉบับมือโปร 

เทคนิคเลือกซื้อบ้านใหม่จากช่างตรวจ 


1. ซื้อบ้านหน้าฝน 

เคยได้ยินไหมทำไมหลายๆ คนถึงแนะนำให้ซื้อบ้านหน้าฝนหรือตรวจบ้านตอนหน้าฝน ซื้อบ้านหน้าฝนดียังไง? สิ่งแรกเลยคือเราสามารถดูภาพรวมได้ทั้งทำเล การคมนาคม วิเคราะห์สภาพโครงการและที่สำคัญคือประเมินคุณภาพบ้านที่เรากำลังจะซื้อได้ เราจะได้เห็นสภาพของบ้านจริง ว่าหลังจากเจอฝนตกบ่อยๆ หรือตกหนัก  วัสดุ การก่อสร้างบ้านได้คุณภาพหรือไม่  มีน้ำรั่วซึมหรือคราบน้ำตามขอบวงกบประตู-หน้าต่าง ผนัง และหลังคาหรือไม่ โดยสามารถเดินดูรอบๆ บ้าน เช็กบริเวณฝ้าเพดานและรอยน้ำรั่วน้ำซึมที่พื้นหรือผนังในบ้าน 

ถ้าหากเจอปัญหาเหล่านี้ผู้ที่ซื้อบ้านก็สามารถนำมาประกอบการตัดสินหรือประเมินได้ว่าจะมีวิธีการแก้ไขอย่างไรต่อไป หลังจากฝนตกอย่างหนักสิ่งที่จะตามมาคือน้ำท่วมขังเพราะมีการระบายน้ำไม่ทัน เราจะเห็นว่าหมู่บ้านหรือโครงการที่เรากำลังจะซื้อว่ามีระบบการจัดการระบายน้ำที่ดีหรือไม่ โดยหลังจากฝนตก อาจเดินดูรอบๆ โครงการได้ 

รวมถึงความเหมาะสมของทำเลและการคมนาคมในระแวกโครงการหมู่บ้านที่เราซื้อตั้งแต่ถนนใหญ่ ทางเข้าโครงการ ทางเข้าซอย หรือซอยย่อยว่าเวลาที่เกิดฝนตกหนัก สภาพการจราจรเป็นอย่างไร? มีโอกาสน้ำท่วมขังเนื่องจากการระบายช้าหรือไม่ หรือมีเส้นทางอื่นให้เลือกใช้ได้หรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากเราต้องเดินทางในระแวกนั้นทุกวันหลังจากซื้อบ้านและย้ายเข้าอยู่อาศัย



2. ซื้อบ้านช่วงปิดไตรมาส 

ซื้อบ้านช่วงเดือนปิดไตรมาส ช่วยให้เราได้บ้านในราคาดีและคุ้มค่าจริงไหม? 

โดยปกติแล้วบ้านใหม่ราคามาตรฐาน Price List จากโครงการ อาจมีรายการโปรโมชั่นส่วนลดตามโอกาสต่าง ๆ อยู่แล้ว โดยเฉพาะช่วงที่ทางโครงการจะต้องเร่งทำยอดขายให้หมดเพื่อปิดไตรมาส สิ่งที่ตามมาก็คือแคมเปญ ลด แลก แจก แถม หรือออกโปรโมชั่นต่าง ๆ เพื่อเร่งทำยอดขายให้หมด สำหรับผู้ที่ซื้อบ้านเองสามารถต่อรองของแถมได้ อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ หรืออาจต่อรองเรื่องค่าธรรมเนียมการโอนต่างๆ เป็นต้น สำหรับเดือนของการปิดไตรมาสก็ได้แก่ เดือนมีนาคม เดือนมิถุนายน เดือนกันยายน และเดือนธันวาคม 



3. ไม่ซื้อบ้านเฟสแรก  

ก่อนอื่นนั้นต้องดูว่าโครงการหมู่บ้านจัดสรรที่เราจะซื้อหรือสนใจอยู่นั้นมีแผนสร้างบ้านขายเป็นเฟส ๆ หรือไม่? ถ้าใช่ แนะนำว่าไม่ควรเลือกซื้อบ้านในเฟสแรกถึงแม้ราคาอาจจะถูกกว่าเฟสใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นเป็นเท่าตัวก็ตาม (เนื่องจากอาจเป็นเฟสตั้งต้นเพื่อดูแนวตลาด ยังไม่สามารถอัพราคาสูง ๆ ได้) 

การซื้อบ้านเฟสแรกเป็นเฟสที่เสี่ยงที่สุด เนื่องจากในบางครั้งผู้ซื้อทำการซื้อบ้านในช่วง Pre-sale จะยังไม่เห็นบ้านจริงเป็นรูปเป็นร่างแต่ต้องจ่ายเงินก่อนแล้ว มีความเสี่ยงที่ตัวโครงการจะไม่ได้ออกมาเป็นอย่างที่แบบวางไว้ อย่างที่สองคือ บ้านในเฟสแรกอาจจะอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ 100% เพราะเจ้าของโครงการยังไม่รู้ปัญหาการก่อสร้างบ้านเท่าไหร่ ด้วยความที่เป็นเฟสแรก ถ้าจะให้เปรียบเทียบก็คงคล้าย ๆ หนูทดลอง ที่ใช้เก็บข้อมูลด้านแนวตลาด ปัญหาในการก่อสร้าง จากเฟสแรกเพื่อไปพัฒนาในการสร้างเฟสต่อ ๆ ไป 

อีกทั้งการซื้อบ้านเฟสแรกแล้วมีการสร้างเฟสอื่นต่อๆ อาจทำให้กลายเป็นชุมชนแออัด การจราจรติดขัด สมมุติว่าจากจำนวนบ้านตอนที่เราซื้อมีแค่ 200 หลัง การจราจรมีสภาพคล่องตัวสามารถคำนวนเวลาในการไปทำงาน ส่งลูกไปโรงเรียนได้ แต่หลังจากโครงการขายบ้านหมดมีการสร้างเฟสอื่นเพิ่ม จากทั้งโครงการ 200 หลัง กลายเป็น 400 หลัง เท่ากับประชากรเพิ่มอีกเป็นเท่าตัว ถ้าใช้ทาง เข้า-ออก รวมกันรับรองได้เลยว่าการจราจรจะต้องมีปัญหาแน่ ๆ ทางที่ดีก่อนซื้อบ้านควรสอบถามโครงการว่าที่ดินโดยรอบโครงการเป็นของใคร มีแนวโน้มจะพัฒนาไปเป็นอะไรในอนาคตเพื่อประกอบการตัดสินใจ





4. ไม่ซื้อบ้านโมเดลหรือบ้านตัวอย่าง   

ซื้อบ้านตัวอย่างดีหรือไม่? ถึงแม้ว่าหลายคนจะมองว่าซื้อบ้านตัวอย่างมีความคุ้มค่าเนื่องจากมีการออกแบบตกแต่งไว้แล้วได้เฟอร์นิเจอร์บิวท์อินครบครัน รวมทั้งจะได้ไม่ต้องเสียเวลาจ้างหรือจ่ายค่าออกแบบและตกแต่งภายในบ้าน ซึ่งกระบวนการตั้งแต่ออกแบบจนตกแต่งเสร็จก็ใช้เวลาพอสมควรกว่าจะได้เข้าอยู่อาศัยจริงๆ แต่ถ้าซื้อบ้านตัวอย่างก็เหมือนซื้อบ้านที่พร้อมถือกระเป๋าย้ายเข้าอยู่เลย 

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่า บ้านตัวอย่างมักเป็นบ้านที่สร้างหลังแรกของโครงการ อาจสร้างด้วยระยะเวลาที่จำกัดต้องรีบสร้างให้ทันก่อนวันเปิดขาย เราจึงไม่ควรมองข้ามคุณภาพในการก่อสร้าง ทั้งเรื่องโครงสร้าง ระบบน้ำ ระบบไฟ และสภาพอายุของบ้านตัวอย่าง เพราะตอนที่สร้างบ้านตัวอย่างอาจมีการรีบถมดินเพื่อรีบสร้าง เราอาจพบปัญหาโครงสร้างดินรอบบ้านทรุดตัวไวกว่าบ้านหลังอื่นและหากขายเป็นหลังสุดท้ายก่อนปิดโครงการก็จะผ่านการใช้งานมาเยอะ ตัวบ้านอาจทรุดโทรม สภาพซีลซิลิโคนยาแนวภายในบ้านเสื่อมสภาพ  มีน้ำรั่วน้ำซึมตามวงกบประตู-หน้าต่าง ผนัง หลังคา  การเดินระบบสายไฟบนหลังคาที่ไม่เรียบร้อย 

ถึงบ้านตัวอย่างจะเป็นบ้านที่ตกแต่งแบบครบครันสวยงามแทบจะพร้อมเข้าอยู่ แต่การก่อสร้างอาจไม่ได้คำนึงถึงการเข้าอยู่จริงเป็นหลัก เช่น ห้องน้ำดูสวยตกแต่งดี อ่างฝักบัวใช้ของแบรนด์ แต่ชักโครกกดไม่ลงเพราะต่อท่อไม่ดี ระบบระบายน้ำอุดตัน เป็นต้น ทำให้เมื่อผู้ซื้อได้ใช้ชีวิตจริงในบ้านตัวอย่าง จะพบกับปัญหาต่างๆ ตามมาและส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่มาจากโครงสร้าง ทำให้มีการแก้ที่ซ้ำซ้อนและอาจเป็นการแก้ที่ไม่จบสิ้น เมื่อได้เข้าอยู่จริง บ้านที่ถูกตกแต่งมาอาจจะไม่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของทุกคน ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนปรับปรุงให้เข้ากับผู้อยู่อาศัยและต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงบ้านเพิ่มขึ้นมากกว่าการตกแต่งบ้านเปล่า




5. จ้างบริษัทตรวจบ้าน   

"ถ้าหากผู้ซื้อบ้านไม่มีความรู้ในการตรวจบ้าน การมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยในการตรวจบ้านจึงเป็นสิ่งจำเป็น"

ช่างตรวจบ้านเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะนอกจากมีความรู้เรื่องโครงสร้างและระบบของบ้านแล้ว ยังมีประสบการณ์ในการตรวจบ้านทำให้รู้จุดที่เป็นปัญหาบ่อยๆ หรืออาจเกิดปัญหาในอนาคตและเป็นอันตรายต่อผู้อยู่อาศัย ที่สำคัญคือมีประสบการณ์รับฟังปัญหาของเจ้าของบ้านทำให้เข้าใจว่าผู้อยู่อาศัยจริงๆ ต้องการอะไร หลายคนที่ซื้อบ้านหลังแรก อาจยังไม่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับปัญหาที่อยู่อาศัย อาจมีหลายอย่างที่ไม่ได้คำนึงถึงแต่ด้วยประสบการณ์ตรวจของช่างตรวจบ้านทำให้ครอบคลุมไปถึงจุดนั้น การเลือกช่างตรวจบ้านก็เป็นเรื่องที่สำคัญ

จำเป็นต้องเลือกช่างที่มีประสบการณ์มีความรู้เรื่องบ้านจริงๆ มีการวางระบบการตรวจอย่างเป็นแบบแผนครอบคลุม เจ้าของบ้านสามารถมีส่วนร่วมในการตรวจได้ เช่น ทราบถึงปัญหาของบ้านตัวเองว่ามีที่จุดใดเรื่องอะไรบ้าง เพื่อในอนาคตถ้าอยู่ไป 5 ปี 10 ปี บ้านเกิดปัญหาเจ้าของบ้านจะได้แก้อย่างตรงจุด การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยก็มีส่วน เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้การตรวจบ้านมีความละเอียดมากขึ้น ลดความผิดพลาดของการตรวจ เช่น ตาเปล่ามองไม่เห็นความชื้น แต่ถ้าใช้กล้องอินฟาเรด หรือเครื่องตรวจจับความชื้น ก็จะสามารถรู้ได้ถึงจุดรั่วซึม การเลือกใช้ ทีมช่างที่ดี มีประสบการณ์ และใช้อุปกรณ์ที่ทันสมัย ก็จะทำให้ผู้ซื้อได้บ้านที่ดีที่สุด เหมือนที่หลายๆ คนวางใจให้ ต.ตรวจบ้าน เป็นผู้ดูแลในการตรวจบ้านก่อนโอน



สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม